GOOGLE-SITE-VERIFICATION=X78IZ9_9ZHX5V0OKYF2RROUQHRFYQL59RTSAIXTEKZQ
top of page

Past Events

พระตรีมูรติกับหลักการไหว้ที่ถูกต้อง

“พระตรีมูรติกับหลักการไหว้ที่ถูกต้อง”

ถ้าพูดถึง “พระตรีมูรติ” หลายๆคนคงจะนึกถึงท่านในฐานะของเทพแห่งความรัก ที่สามารถประทานพรให้ผู้ที่ไปกราบไหว้ได้สุขสมหวังกับคนที่เรารักได้ แต่นอกจากจะขอเรื่องความรักแล้ว หลายคนคงยังไม่รู้ว่าเราสามารถขอพรในเรื่องอื่นได้ด้วย เพราะ คำว่า “ตรี” หมายถึง 3 “มูรติ” หมายถึง รูปแบบ “พระตรีมูรติ” นั้นจึงหมายถึงเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะมีศักดิ์สูงสุดในศาสนาพราหม์ เนื่องจากเป็นการรวมตัวกันของมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ถึง 3 พระองค์ด้วยกันคือ พระพรหม์ (พระผู้สร้าง), พระวิษณุหรือพระนารายน์ (พระผู้รักษา) และ พระศิวะ (พระผู้ทำลาย) นั่นเอง ลำพังเฉพาะองค์เทพองค์ใดองค์หนึ่งก็มีอานุภาพมหาศาลในการบรรดาลทุกสิ่งอยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ว่าพระตรีมูรตินั้นจะมีอานุภาพเป็นที่สุดในการบรรดาลพรต่างๆ

ตามประวัติศาตร์การกำเนิด “พระตรีมูรติ” ก็มีเรื่องเล่ากล่าวไว้ และมักจะเข้าใจกันว่าพระตรีมูรติเป็นการรวมตัวของทั้งสามพระองค์ในร่างเดียวกัน หรือที่เรียกว่า ทัตตาเตรยะ (Dattatreya) คำว่า ‘ทัตตา (Datta)’ ซึ่งหมายถึง การมอบให้พระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์ ส่วนคำว่า ‘เตรยะ (treya)’ หมายถึง ผู้เป็นบุตรแห่งฤาษีอัตริหรือเตรยะ อันเป็นร่างอวตารของมหาเทพทั้งสามพระองค์ หรือบ้างก็กล่าวกันว่าเป็นองค์พระนารายณ์

ตามตำนานมีอยู่ว่า ขณะที่ฤาษีนามว่า “อณิมาณฑวย” (อะ-นิ-มาน-ดับ-วยะ) กำลังบำเพ็ญสมาธิอยู่ ได้มีโจรกลุ่มหนึ่งกำลังหนีผ่านมาทางนั้นพอดี แต่เนื่องจากฤาษีตนนั้นกำลังอยู่ในฌานสมาธิ จึงไม่พูดสิ่งใดออกมา ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจผิดคิดว่าฤาษีเป็นโจร ฤาษีจึงถูกจับตัวมาลงโทษและถูกสั่งประหารชีวิต โดนเสียบตรีศูลไว้บนยอดเขาแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เสียชีวิต

ระหว่างนั้น นางศีลวตี ซึ่งเป็นภรรยาที่ซื่อสัตย์ต่อ “อุครศรวัส” ผู้เป็นสามี กำลังแบกสามีของตนขึ้นขี่คอ และได้เดินทางผ่านมาเพื่อจะไปหานางอนุสูรยาซึ่งเป็นเพื่อนรักกัน นางศีลวตีผ่านมายังเขาลูกนั้นพอดีในวันที่มีฝนตกหนัก ทำให้การเดินทางลำบากมากกว่าปกติ สามีของนางจึงกล่าวโทษโยนความผิดไปที่ฤาษี (อณิมาณฑวย) และหาว่าฤาษีเป็นตัวต้นเหตุที่ทำให้เกิดฝนตก เมื่อฤาษีได้ยินเข้า ก็เกิดไม่พอใจ และแม้ว่าฤาษีกำลังจะสิ้นใจลง แต่ก็ไม่วายที่จะทิ้งคำสาปแช่งให้ศีรษะของอุครศรวัสแตกเป็นเจ็ดเสี่ยงเมื่อยามที่พระอาทิตย์ขึ้น หลังจากที่นางศีลวตีได้ยินคำสาปแช่ง ก็ไม่ต้องการให้สามีผู้เป็นที่รักเป็นเช่นนั้น จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้พระอาทิตย์ไม่มีวันขึ้นอีกเลย และด้วยคำอธิษฐานของนาง จึงส่งผลทำให้พระอาทิตย์ไม่ขึ้นตามปกติ เหตุการณ์นี้นำความเดือดร้อนวุ่นวายกันไปทั่วทั้งสามโลก แม้แต่พระพรหม พระศิวะ หรือพระนารายณ์ ก็ไม่อาจแก้ไขได้ เว้นแต่เพียงนางศีลวตีจะยอมถอนคำอธิษฐานนั้นเสีย ดังนั้น ทั้งสามพระองค์จึงได้เดินทางไปหานางอนุสูยา เพื่อให้นางช่วยบอกให้นางศีลวตีถอนคำอธิษฐานนั้นเสีย เมื่อไปถึงบ้านกลับพบว่าสามีของนางที่ชื่อว่า “อรตี” ไม่อยู่บ้าน ทั้งสามจึงทำทีเป็นขออาหารจากนางอนุสูยา แต่มีเงื่อนไขว่านางจะต้องจัดอาหารให้โดยปราศจากอาภรณ์ นางอนุสูยารู้ดีว่าหญิงใดที่เปลื้องเสื้อผ้าต่อหน้าผู้อื่นที่ไม่ใช่สามีของตน ย่อมได้ชื่อว่าเป็นหญิงผู้ไม่ซื่อสัตย์ นางอนุสูยา ไม่อยากผิดคำมั่นสัญญา อีกทั้งยังคิดว่าคำร้องขอนี้มีที่มาแปลกประหลาด บุคคลเหล่านี้ต้องไม่ใช่คนธรรมดาแน่นอน เมื่อได้เห็นเช่นนั้น นางอนุสูยาจึงนึกอธิษฐานเพื่อบอกสามีว่า สิ่งที่นางได้กระทำไปนั้น ไม่ได้เป็นการยั่วยวนหรือกามราคะใดๆ เมื่อทั้งสามพระองค์ร้องขอออกมาว่า “โอ้มาตา โปรดให้อาหารแก่เราเถอะ” นางอนุสูยาจึงตัดสินใจคิดเสียว่า ทั้งสามพระองค์คือ บุตรของนาง และเมื่อความเมตตาปรากฎขึ้น นางจึงเปลื้องอาภรณ์ออก และทันใดนั้นเอง พระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์ ก็กลายร่างเป็นทารกน้อยทั้งสาม นางอนุสูยาจึงอุ้มทารกน้อยทั้งสามไปให้น้ำนมและอาหารจนอิ่มหลับไป ครั้นเมื่อสามีของนางอนุสูยากลับมา ก็รับทราบเรื่องราวความจริงทั้งหมด ผู้เป็นสามีจึงรีบเข้าไปดูและปลุกเด็กทารกขึ้นมา แต่แล้วทารกน้อยก็เปลี่ยนกลับร่างกลายมาเป็นพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามดังเดิม ทั้งสามพระองค์ทรงสรรเสริญนางอนุสูยาที่มีความเมตตายิ่ง และร้องขอให้นางอนุสูยาช่วยให้นางศีลวตีถอนคำอธิษฐานนั้นเสีย พร้อมยื่นขอเสนอว่า หากยอมถอนคำดังเดิมแล้ว สามีของนางศีลวตีที่ชื่ออุครศรวัสก็จะไม่ตายตามที่ฤาษีเคยสาบแช่งไว้ เมื่อนางศีลวตีได้รับรู้เรื่องราว จึงยินยอมถอนคำอธิษฐานแต่โดยดี ทั้งสามพระองค์จึงตรัสถามนางอนุสูยาว่าต้องการขอพรสิ่งใดเป็นการตอบแทนหรือไม่ นางอนุสูยาจึงทูลขอให้พระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์ประทานบุตรให้นางในภายภาคหน้า ทั้งสามพระองค์ได้ทำตามสิ่งที่นางร้องขอ และทำให้นางให้กำเนิดบุตรสามคน อันได้แก่ พระทัตตาเตรยะจากพระนารายณ์ ทุรวาสัสจากพระศิวะ และพระจันทร์จากพระพรหม

ตามตำนานไม่ได้กล่าวไว้ว่าเหตุใด “พระตรีมูรติ” นั้นถึงได้ถูกขนานนามว่าเป็นเทพแห่งความรัก แต่เนื่องจากเป็นการรวมตัวของ3เทพผู้ยิ่งใหญ่ และความรักนั้นก็มีพลังอานุภาพที่สุดในบรรดาพรทั้งหลาย ทำให้มีการมาขอพรกับเทพผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด จึงทำให้เป็นความเชื่อต่อกันมาปากต่อปากว่าเป็นเทพแห่งความรักนั่นเอง

หลักการในการกราบไหว้ “พระตรีมูรติ” นั้นมีดังนี้

1.ช่วงเวลาในการกราบไหว้

เวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการสักการะบูชาพระตรีมูรตินั้น เป็นวันพฤหัสบดี เวลา 21.30 น.เพราะเชื่อกันว่า นั่นเป็นฤกษ์ยามที่มหาเทพจะเสด็จลงมาจากสวรรค์เพื่อรับคำอธิษฐาน คำขอพร ของผู้มากราบไหว้

2.เครื่องบูชาในการสักการะขอพรพระตรีมูรติในเรื่องของความรัก

- ดอกกุหลาบสีแดง 9 ดอก หรือพวงมาลัยดอกกุหลาบสีแดง 1 พวง เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือสัญลักษณ์ของโลกียะ - ธูปสีแดงจำนวน 9 ดอก

- เทียนสีแดง 1 เล่ม หรือ 1คู่ (สำหรับผู้ที่ยังโสดให้ไหว้ด้วยเทียน 1 เล่ม เพื่อเป็นการขอพรให้พบคู่, ส่วนผู้ที่มีคู่อยู่แล้วให้ไหว้ด้วยเทียน 1คู่ โดยจะต้องประกบให้เทียนคู่แนบชิดกัน อันเป็นสัญลักษณ์ของคน 2 คนที่จะเคียงคู่รักกันตลอดไป) - ของสักการะอื่นๆ แต่ต้องเน้นสีแดงเป็นหลัก

3.ขั้นตอนในการสักการะบูชา

เมื่อจุดธูปเทียนเสร็จแล้ว ให้นำเทียนไปปักวางไว้ในที่ที่จัดไว้ให้ นั่งลงอย่างนอบน้อมต่อหน้าเทวรูป พนมมือขึ้นพร้อมธูปทั้ง 9 และดอกกุหลาบทั้ง 9 ดอก หรือพวงมาลัย 1พวง ตั้งจิตอธิษฐานให้แน่วแน่ มีสมาธิ และท่องตามบทสวดด้านล่าง

ปักธูปลงในกระถาง แล้วจึงนำดอกไม้หรือพวงมาลัยไปวางในที่ที่จัดไว้ให้ เป็นอันเสร็จพิธี

4.บทสวดขอพรและสักการะ พระตรีมูรติ

สาธุ สาธุ สาธุ อุกาสะ ข้าแต่องค์พระตรีมูรติที่ยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้า นาย,นาง……(ชื่อ-นามสกุล และที่อยู่) กราบเบื้องบาทแด่องค์ท่านแล้ว พระองค์เคยประทานพรแด่ทวยเทพทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติดี ผู้ปฏิบัติชอบทั้งหลาย บัดนี้ ข้าพเจ้ามากราบเบื้องบาทแด่พระองค์ท่านแล้ว จึงขอพรจากพระองค์ซึ่งประทานไว้ ณ บัดนี้ ……(ขอพร) เตสัง อัมหากัง พรใดอันประเสริฐจงมาบังเกิดแก่ข้าพเจ้า ตุมหากัง และจงบังเกิดแด่ผู้คุ้มครองข้าพเจ้า ทีฆายุกา มหาเดชา มหาปัญญา มหาโภคา มหายะสา มหาลาภา ปัญจวีสติ ภยันจะ ทวิตติงสะ ฉันนะวุฒิติโรคัญจะ โสระสะ อุบัติ อันตรายยัญจะ อัยยัญติกะ อันตรายยัญจะ พาหิระ อันตรายยัญจะ วิระหิตะวา โหตุ ยาวะชีวัง พระวิสตีติ พระตรีมูรติ

5.เครื่องบรรณาการแสดงความขอบคุณเมื่อได้รับพรตามที่ขอแล้ว

เมื่อคำอธิษฐานที่ได้ขอพรไปนั้นสัมฤทธิ์ผลแล้ว ก็ต้องมีการถวายเครื่องบรรณาการเพื่อแสดงความขอบคุณแก่มหาเทพ โดยมากจะใช้มะพร้าว น้ำอ้อย นมสด หรืออาหารหวานชนิดอื่นก็ได้ แต่ห้ามไหว้ด้วยอาหารคาวเด็ดขาด

เมื่อทราบถึงประวัติ ความเป็นมาและวิธีการกราบไหว้ขอพร “พระตรีมูรติ” ที่ถูกต้องแล้วนั้น หวังว่าสาวกหรือผู้ที่นับถือ พร้อมทั้งผู้ที่ต้องการไปกราบไหว้ขอพร จะปฏิบัติตนได้ถูกต้องตามประเพณีที่สืบต่อกันมา นอกจากจะขอพรเรื่องความรักแล้วนั้น ท่านสามารถขอพรเรื่องอื่นๆได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการงาน การเงิน หรือครอบครัว ขอให้ทุกท่านมีศรัทธาและประพฤติปฏิบัติตนให้ดี ให้ถูกต้องเหมาะสม แล้ว “พระตรีมูรติ” ก็จะเป็นองค์เทพที่จะคอยช่วยเหลือ ประทานพร ให้ท่านได้สมหวังดังตั้งใจแน่นอน

Recent Posts
bottom of page